Tuesday, January 10, 2012

ประวัติ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์



 อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2498 ที่หมู่บ้านเล็กๆ ยากจน ที่ไม่มีไฟฟ้า ชื่อหมู่บ้านร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย แม่บอกว่าคลอดเวลาประมาณ 2 ทุ่ม หรือเช้าๆ ไม่แน่ใจเพราะกูจำไม่ได้ ผมเป็นลูกคนที่3 มีพ่อเป็นคนจีน พ่อผมชื่อ ฮั่วชิว แซ่โค้ว (เปลี่ยนเป็นนายไพศาล) แม่ผมเป็นคนอำเภอพะเยา (อดีตเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย) ชื่อ พรศรี อยู่สุข แม่ไม่ยอมเปลี่ยนนามสกุลจนบัดนี้
ผมเป็นเด็กค่อนข้างเกเร และดื้อ เคยถูกแม่ตบเลือดอาบคาโอ่งน้ำ เพราะเอามีดไล่แทงพี่ชาย แต่ผมชอบวาดรูปมากตั้งแต่จำความได้ ไม่สนใจเรื่องอื่นใดนอกจากเล่นสนุกเอามันส์ไว้ก่อน กับเขียนรูป เรียนหนังสือห่วยแตก ตก ป.3
พอโตหน่อย ตก ป.6 เพราะไม่ชอบเรียนวิชาอื่น สมุดเรียนมีแต่รูปวาดทั้งเล่ม อายุ 8 ขวบพ่อแม่ผมย้ายไปอยู่ในตัวเมืองเชียงราย ผมเข้าเรียนโรงเรียนดรุณศึกษา ผมดีใจมาก เพราะจะได้ไปดูเขาเขียนรูปที่โรงหนัง ผมไปทุกวัน
หลังเลิกเรียน ช่วยล้างพู่กัน ซื้อโอเลี้ยง จนได้วาดรูปตัวประกอบ เลยตั้งเป้าที่จะเรียนเพาะช่างและมหาวิทยาลัยศิลปากรให้ได้ ซึ่งสามารถเข้าเรียนได้ และเรียนได้อย่างดีเยี่ยม จนได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการประกวดงานระดับชาติ ในสมัยที่ยังเรียนอยู่ชั้นปีที 4
หลังจากสำเร็จการศึกษาภาคศิลปไทยเป็นรุ่นแรก ก็ตั้งเป้าชีวิตว่าจะเป็นศิลปินสร้างงานศิลปะไปจนตาย โดยเริ่มชีวิตจากห้องเช่าเล็กๆ แต่เก็บเงินซื้อบ้านได้ภายใน 3 ปี
มีอยู่ครั้งนึงที่ได้รับทุนเดินทางไปดูงานต่างประเทศ (2524 – 2526) ทุนของสถาบันและองค์กรต่างๆ หลายครั้ง เมื่อครั้งที่ผมไปประเทศอังกฤษ ได้เห็นโบสถ์ที่วัดไทย วัดพุทธปทีป ในกรุงลอนดอน ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลนายกฯ
เกียงศักดิ์ ก็รู้สึกมีความศรัทธา ผมจึงเสนอตัวเพื่อขอเขียนรูปถวายเป็นพุทธบูชา โดยไม่คิดค่าจ้างร่วมกับเพื่อนรุ่นน้องชื่อปัญญา วิจินธนสาร โดยใช้ชีวิตกว่า 4 ปีอยู่ที่นั่นท่ามกลางความยากลำบากต่างๆ นาๆ มีปัญหาสารพัด ผู้คนทะเลาะกัน พระไม่ลงรอยกับกรรมการ ไม่มีเงิน ไม่มีแรง
หลังจากอธิษฐานจากหลวงพ่อดำที่อยู่ที่นั่น ว่าเหนื่อยเหลือเกินแล้ว ท้อที่สุด แต่อยากทำให้เสร็จ ขอแลกด้วยชีวิตก็ยอม ปาฏิหารมีจริง อาจารย์ได้พบกับพลเอกเปรมที่มาเยี่ยมที่ลอนดอนพอดี การทำงานนั้นได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจาก พลเอกเปรม จนสำเร็จ แต่รู้สึกว่าหลวงพ่อดำจะประธานให้แต่โชค และไม่ต้องการชีวิตของอาจารย์ตอบแทน
กลับมาเริ่มต้นชีวิตที่เมืองไทย ด้วยเงินติดกระเป๋าเพียง 4000 บาท แต่ด้วยฝีมือการวาดภาพที่เข้าขั้นอัจฉริยะ สามารถทำเงินได้มหาศาลภายในเวลาอันสั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่อาจารย์เฉลิมชัยบอกว่าเกลียดตัวเองที่สุด เพราะเต็ม
ไปด้วยกิเลส ลุ่มหลง กามารมณ์ แต่หลังจากติดบ่วงทางโลกได้ 2-3 ปี อาจารย์เฉลิมชัย ก็เริ่มหันเข้าสู่ธรรมะ บวชและออกธุดงค์อยู่ตามป่าช้า และหลังจากสึกออกมาก็ไม่เคยทำความเลวใดอีกเลย
อาจารย์เฉลิมชัย ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยร่วมในทีมวาดรูปประกอบหนังสือพระมหาชนก เลยมีความประทับใจ และรู้สึกว่าชีวิตนี้พร้อมจะถวาย เพื่อสร้างงานซักชิ้นไว้คู่พระบารมี
เมื่อครั้งกลับวัดร่องขุ่น ที่คนรุ่นพ่อร่วมกันสร้าง ที่ตอนนั้นมีสภาพทรุดโทรมเป็นที่สุด ก็เลยมีแรงดลใจว่าอยากสร้างวัดร่องขุ่น ด้วยศิลปะสมัยใหม่ เหมาะกับประเทศไทยภายใต้ร่มโพธิสมภารของในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงลงมือ
ก่อสร้างตั้งแต่ 2540 โดยอุทิศทั้งชีวิตให้กับการสร้างงานชิ้นสุดท้ายของชีวิตชิ้นนี้
อาจารย์เฉลิมชัย ได้รับรางวัลและปริญญากิตติมศักดิ์มากมาย แต่ตนเองคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะการให้อันบริสุทธิ์ย่อมนำมา ซึ่งการรับอันมากมายไปจนตายและหลังความตายอย่างแน่นอน




สร้างพุทธศิลป์เพื่อแผ่นดิน วัดร่องขุ่น ถวายเป็นพุทธบูชา


ผมเป็นจิตรกรอาชีพ ชอบวาดรูปตั้งแต่จำความได้ ผมตั้งมั่นที่จะเป็นศิลปินเขียนรูปเพียงอย่างเดียว จึงขยันฝึกฝนตัวเองจนสามารถเรียนจบวิชาศิลปะจากสถาบันศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ โรงเรียนเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมผ่านการได้รับรางวัลที่ 1 เหรียญทองจากการประกวดผลงานศิลปะระดับชาติ เมื่อปี 2520 หลังจากนั้นไม่ส่งผลงานเข้าประกวดอีกเลย เพราะคิดว่าได้รับรางวัลไม่ใช่จุดสูงสุดในชีวิตที่ผมได้ตั้งเป้าหมายไว้
ระหว่างปี 2523 ถึงปี 2539 ผมออกเดินทางไปแสดงผลงานเพื่อหาประสบการณ์และเผยแพร่งานพุทธศิลป์ในต่างประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป และ อเมริกา โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ผมเดินทางไปอยู่ถึง 4 ปี เพื่อเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดไทย ณ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นวัดของรัฐบาลไทย ชื่อวัพพุทธปทีป เริ่มปี 2527 ถึงปี 2531 เพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชา แด่พระพุทธเจ้าและประเทศชาติของผม โดยไม่คิดค่าจ้าง เพราะผมปรารถนาที่จะเป็นผู้นำงานพุทธศิลป์ร่วมสมัยของชาติผมให้ชาวโลกได้รู้จักได้สัมผัสสุนทรียภาพทางอารมณ์และปรัชญาที่แตกต่าง
ผมเรียนธรรมะของพระพุทธเจ้ามากว่า 20 ปี ผมเข้าใจสัจธรรมการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ผมฝึกฝนปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อตัดกิเลสได้มากพอควร ผมนำหลักพุทธธรรมเป็นผู้นำชีวิตให้เดินทางสายกลางทั้งภายนอกและภายใน จนประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม
ทางโลกนั้น ผมมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและรู้จักของคนทั้งประเทศ มีนักสะสมผลงานศิลปะทั้งในและต่างประเทศหาซื้อผลงานของผม จนไม่มีในตลาดศิลปะ ทำให้หลังปี 2540 ผลงานของผมมีราคาสูงมาก และหาซื้อไม่ได้ในขณะนี้
ปี 2538 ผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้รับใช้ถวายงานแด่พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รับยิ่งของผมหลายชิ้น ส่วนในทางธรรมนั้น ผมมีจิตใจที่งดงามมากขึ้น มีความสุข จิตราบเรียบสงบไม่ฟุ้งซ่านดิ้นรนเหมือนอดีตก่อนผมรู้จักธรรมะของพระพุทธองค์ ธรรมะทำให้ผมมุ่งปรารถนาที่จะเป็นผู้ให้แก่มวลมนุษยชาติ และเป็นที่มาของการตั้งจิตมุ่งมั่นที่จะคืนชีวิตตนเองให้แก่ชาติ แก่พระศาสนา และก่ามนุษย์ทั้งโลก ผมตั้งความหวังที่จะมอบชีวิตในวัยที่มีค่าที่ดีพร้อมที่สุดของอาชีพจิตรกร ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา ฝีมือ จินตนาการให้แก่โลกไปจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ผมเริ่มงานก่อสร้างตามตั้งใจไว้ถึง 3 ปี โดยการเริ่มสร้างวัดร่องขุ่น วัดบ้านเกิดของผม เมื่ออายุเพียง 42 ปี ด้วยเงินที่ผมเก็บสะสมไว้กว่า 20 ปี จากการจำหน่ายผลงานศิลปะของผม




ผมหวังที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผมให้ปรากฏเป็นงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของโลกมนุษย์นี้ให้ได้ เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติของผมไปสู่มวลมนุษยชาติทั้งโลก ผมเริ่มสร้างอุโบสถก่อนเมื่อปี 2540 บนพื้นที่เดิมของวัด 3 ไร่ ผ่านมาบัดนี้ ปี 2548 เข้าปีที่ 8 ที่ผมอุทิศตน ผมขยายวัดเป็น 12 ไร่ จากการซื้อที่ดินเพิ่มและคุณวันชัย วิชญาชาคร ร่วมบริจาค
หากเมื่อผมตาย คณะลูกศิษย์ที่ผมสอนไว้จะสานต่อจินตนาการของผมจนแล้วเสร็จทั้งหมด ผมได้เตรียมการบริหารจัดการหลังความตายไว้พร้อมแล้ว ท่านที่มาชมวัดแล้วอย่ากังลงใจกลัวว่าผมจะสร้างไม่สำเร็จ เพราะสาเหตุที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และยังจำกัดจำนวนของผู้บริจาคให้ไม่เกิน 10,000 บาท เงินไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับผม มาวันนี้ผมจ่ายไปแล้วกว่า 40 ล้านบาท ผมมั่นใจในตนเอง มั่นใจต่อจิตอันเป็นผู้ให้ของผม ขอทุกท่านอย่าได้เป็นห่วง ผมไม่ปรารถนาขอเงินใคร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล องค์กรเอกชน หรือเศรษฐีร่ำรวย เพราะผมไม่อยากอยู่ใต้อำนาจทางความคิดของใคร ไม่ต้องการให้ใครมีอำนาจเหนือจินตนาการของผม ผมต้องการอิสรภาพทางความคิดสร้างสรรค์ ผมเชื่อว่า “เงินจำนวนมาก ย่อมมาพร้อมอำนาจของผู้บริจาค”
ผมสร้างงานพุทธศิลป์ด้วยความศรัทธาจริตไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใด ๆ ตอบแทน ไม่ต้องการและไม่ชอบการทำบุญเอาหน้า วัดนี้ไม่เคยเรียไรเงินด้วยกฐินผ้าป่า วัดนี้ไม่รีบร้อนสร้างเพื่อฉลองในโอกาสใด ๆ ทั้งสิ้น ผมคิดเพียงอย่างเดียว ต้องดีที่สุดสวยที่สุด สร้างจนหมดภูมิปัญญาทางโลกและทางธรรมของผม
“ความตายเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะหยุดเสรีภาพแห่งจินตนาการของผมได้”





แรงบันดาลใจในการสร้างวัดร่องขุ่น



มีคนถามผม (อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์) เยอะมากถึงแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้ทุ่มตัวทุ่มใจอุทิศตนสร้างวัดไปจนตายผมมีอยู่ 3 สิ่งที่ผมเคารพรักศรัทธายิ่งกว่าชีวิตอันกระจอกงอกง่อยของผมเอง และคนไทยทุกคนควรระลึกถึงทุกลมหายใจเข้าออก 

ชาติ ผมเกิดบนแผ่นดินไทย ในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่าบ้านร่องขุ่น ในจังหวัดเชียงราย เกิดมาไม่มีไฟฟ้า ใช้บริการด้วยหมอตำแยชื่อยายตุ่นดึงออกมาจากแม่ผม เลือดรกผมตกบนแผ่นดินนี้  ผมรักบ้านเมืองประเทศของผม แต่เด็ก
ปรารถนาอยากเป็นทหารรับใช้ชาติ แต่ดันเรียนไม่เก่ง วาดรูปเก่ง จึงหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะสร้างงานศิลปะให้ยิ่งใหญ่ฝากไว้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ณ ที่เกิด
ศาสนา ผมเลวมาก่อนแต่เด็ก ใจร้อน วู่วาม เคยแทงพี่ชาย เกเร เที่ยวซ่อง เจ้าชู้ โตขึ้นติดกาม เจ้าชู้มาก หลอกผู้หญิงมาเยอะ เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยิ่งเพิ่มความเลวเข้าไปอีก อัตตสูง ความอยากกามอยากวัตถุสูง อยากเด่น
อยากดัง อิจฉาตาร้อน โอ้อวด
ธรรมมะของพระพุทธเจ้าเป็นเหมือนหวายหนามอันแหลมคมฟาดมาที่ใจผมเมื่อจิตพยศ ธรรมะเหมือนน้ำเย็นดับความเร่าร้อนลึกๆในจิตผม และเป็นน้ำอุ่นๆ ให้ผมอุ่นจิตเมื่อผมมีอาการหวาดผวาลังเลในสัจธรรม
พระมหากษัตริย์ เมื่อผมเรียนอยู่ที่คณะจิตกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมเคยได้ยินครูบาอาจารย์ผมพูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า พระองค์เคยรับสั่ง “งานศิลปะประจำรัชกาลของเรา ไม่เห็นมี ทุกรัชกาลเขามีงาน
ศิลปะที่แสดงเอกลักษณ์กันทุกรัชกาล วัดวาอารามที่สร้างกันใหม่ๆ ก็ยังยึดอิทธิพลศิลปะเก่าๆ อยู่”

ความคิดในการสร้างวัดร่องขุ่น




เริ่มแรกสร้างวัด ผม (อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์) คิดเพียงกะสร้างโบสถ์ 1 หลังสวยๆ ใช้เวลาสัก 10 ปีก็มากพอ สร้างไปได้ 2 ปี คนชอบกันมาก เริ่มมองสิ่งก่อสร้างภายในวัด ขี้เหร่ไม่สวย ดูไม่เข้ากับโบสถ์ อุตริสั่งรื้อทิ้งหมด เริ่มตั้งแต่ซุ้มประตูวัด ประปา
หมู่บ้านหน้าวัด ศาลาอ่านหนังสือ ศาลาการเปรียญ หอฉัน กุฏิพระหลังเก่าของแม่สร้างอุทิศให้อาก๋งที่ผมเคยวาดรูปติดหน้าบันไว้เมื่อเป็นเด็กศิลปากรปี 4 สุดท้ายปีนี้ 2548 ทุบกุฏิใหญ่ของพระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหมดทิ้งเป็นหลัง
สุดท้าย จึงไม่เหลืออะไรเลยที่เป็นของเก่าสมัยท่านเจ้าอาวาส พระครูไสวสร้างไว้ (มรณภาพปี 2546)
ผมต้องทุบทิ้งเพราะเป็นของเก่าที่ไม่มีค่าทางสุนทรีภาพ เป็นช่างรับเหมาห่วยๆ ราคาถูกๆ สร้างประมาณ 10 – 20 ปีนี่เอง
พอทุบของเขาทิ้งก็เลยคิดสร้างเพิ่ม แต่ที่ดินวัดไม่พอเลยซื้อเพิ่มครับ อีกไร่กว่าก็ยังไม่พออีก หากสร้างไปก็จะเบียดเบียนกันดูไม่สวย จึงติดต่อขอซื้อที่จากเศรษฐีกรุงเทพฯ เพิ่ม แต่เป็นบุญของพระศาสนาครับท่านใจบุญยกให้ฟรีๆ
ไร่กว่าๆ ที่วัดตกสี่เหลี่ยมพอดี
เวลาผ่านไป 5 ปี คนมาชื่นชมกันเยอะมากจนหาที่จอดรถลำบาก และดันแพ้เสียงเชียร์โดยเฉพาะพวกฝรั่งมันยกย่องออกอาการมาก เลยบ้าตามมัน เปลี่ยนความคิดเป็นสร้างให้สวยระดับโลกให้ได้
เอาล่ะวะไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ลุยเต็มสูบกันเลย ผมขอที่เพิ่มจากคุณวันชัย วิชญชาคร เศรษฐีใจบุญเป็นครั้งที่สอง ท่านก็เห็นแก่พระศาสนา ประเทศชาติ บอกผมว่าเอาเลยอาจารย์ จะเอาเท่าไหร่ก็ถมเอาเถอะ ผมมีร้อยกว่าไร่หลังวัด
ผมคนขี้เกรงใจครับ ขอแค่พอสร้างให้ครบ 9 หลัง ได้เพิ่มอีกประมาณ 3 ไร่กว่า รวมวัดมีเนื้อที่จาก 3 ไร่กว่าเป็น 9 ไร่กว่าๆ
พอแล้วครับ ภูมิทัศน์ลงตัวสวนพอดีครับ ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ผมแบ่งที่ดินเป็น 3 เขต
หนึ่ง  เขตพุทธวาส ผมชอบเรียกว่าพุทธภูมิ เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า จะอยู่ด้านขวา มีเสานางเรียกตั้งโปร่งๆ เป็นเขตแดนประกอบด้วยโบสถ์ หอพระธาตุ สะพานสุขาวดีข้ามน้ำไปสู่ยังหอพระอีกหลัง
สอง เขตสังฆาวาส อยู่ด้านซ้ายด้านเดียวกับเขตฆราวาส จะประกอบด้วยกุฏิพระและหอวิปัสสนา จุคนประมาณ 200 คน สำหรับบรรยายธรรมขั้นสูงและฝึกวิปัสสนากรรมฐาน
สาม เขตฆราวาส อยู่ด้านซ้ายมือหลังแรก เป็นหอศิลป์ ข้างล่างห้องโถงใหญ่ใช้เป็นที่จำหน่ายผลงานสิ่งพิมพ์ ของที่ระลึกต่างๆ ห้องวีดิทัศน์เพื่อบรรยาย จุคนประมาณ 50 คน

แผนที่วัดร่องขุ่น



วัดร่องขุ่น อยู่ในท้องที่ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวัดบ้านเกิดของอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ วัดร่องขุ่นอยู่ก่อนตัวเมืองเชียงรายประมาณ 13 กิโลเมตร ตรงสามแยกไฟแดงทางเข้าน้ำตกขุนกรณ์ จะเป็นที่ตั้งของวัดร่องขุ่น ซึ่งห่างถนนใหญ่เพียง 100 เมตร เท่านั้น
สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย 57000 โทร.053-673579

การเดินทางไปวัดร่องขุ่น




ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ใช้ถนนสายเชียงราย – กรุงเทพฯ ผ่าน จ.พะเยา ผ่าน อ.แม่ใจ จ.พะเยา เข้า อ.พาน จ.เชียงราย ขับรถมุ่งหน้าไปทาง จ.เชียงรายเรื่อยๆ พอออกจากตัว อ.พาน จะข้ามสพานแม่ลาว (แม่น้ำลาว) ขับรถไปซักพักจะถึงแยกปากทางแม่สรวย (แยกไป อ.แม่สรวย และไป จ.เชียงใหม่) ขับรถต่อไปอีกซักประมาณ 10 ก.ม ก่อนจะถึงแยกขุนกรณ์ (ทางไปน้ำตกขุนกรณ์) ประมาณ 200 เมตร ถ้ามองดูทางด้านซ้ายมือ จะเห็นตัววัดสีขาวสะดุดตายิ่งนัก เมื่อถึงทางแยกให้เลี้ยวซ้ายไปทางน้ำตกขุนกรณ์ วัดร่องขุ่นจะอยู่เข้าไปประมาณ 100 เมตร ซึ่งวัดร่องขุ่นจะอยู่ก่อนถึงตัวเมืองเชียงราย13 ก.ม ตรงหลัก ก.ม ที่ 816 ถนนพลหลโยธิน (หมายเลข 1/A2 )
ถ้ามาจาก อ.แม่สาย มาจากสนามบินนานาชาติเชียงราย หรือตัวเมืองเชียงราย ให้มาทางทิศใต้ ทางไป อ.พาน จ.เชียงราย ทางไป จ.พะเยา เมื่อออกจากตัวเมืองเชียงราย จะผ่านแยกไฟแดงสถานีขนส่งแห่งที่ 2 ขับตรงมาเรื่อยๆ จนถึงไฟแดง แยกขวา แยกขุนกรณ์ (ทางไปน้ำตกขุนกรณ์) ให้เลี้ยวขวาเข้ามา ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองเชียงรายไม่กี่นาทีก็จะถึงวัดร่องขุ่น
ถ้ามาจาก จ.เชียงใหม่ ให้มาทาง อ.ดอยสะเก็ด เข้า อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย มาเรื่อยๆ ผ่าน อ.แม่สรวย มาจนถึง สามแยกปากทางแม่สรวยให้เลี้ยวซ้ายไปทาง จ.เชียงราย (เลี้ยวขวาไป อ.พาน, ไป จ.พะเยา) จากปากทางแม่สรวยขับไปทางตัวเมืองเชียงรายประมาณ 10 ก.ม จนถึงแยกขุนกรณ์ (ทางไปน้ำตกขุนกรณ์) ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไป
วัดร่องขุ่นเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 6.30 – 18.00 น.

ห้องแสดงภาพ : เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.00 – 17.30 น.
วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 8.00 – 18.00 น.
ข้อมูลเพิ่มเติม
สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย โทร. 053-716519
ศูนย์บริหาร จัดการ การท่องเที่ยว จ.เชียงราย โทร. 053-715690
วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย 57000 โทร. 053-673579

ประวัติวัดร่องขุ่น



วัดร่องขุ่น เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2540 โดยท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรชั้นแนวหน้าของไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างมาจาก3 สิ่งต่อไปนี้คือ
1. ชาติ : ด้วยความรักบ้านเมือง รักงานศิลป์ จึงหวังสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน
2. ศาสนา : ธรรมะได้เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์เฉลิมชัยจากจิตที่ร้อนกลายเป็นเย็น จึงขออุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนา
3. พระมหากษัตริย์ : จากการเข้าเฝ้าฯ ถวายงานพระองค์ท่านหลายครั้ง ทำให้อาจารย์เฉลิมชัยรักพระองค์ท่านมาก จากการพบเห็นพระอัจฉริยะภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ท่าน จนบังเกิดความตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ดังนั้นอาจารย์จึงได้สร้างงานพุทธศิลป์ถวายเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลพระองค์ท่าน โดยปรารถนาจะสร้างวัดให้เหมือนเมืองสวรรค์ที่มนุษย์สัมผัสได้ บนพื้นที่เดิมของวัด 3 ไร่ และอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้บริจาคทรัพย์สินส่วนตัว และคุณวันชัย วิชญชาคร เป็นผู้บริจาคที่ดินประมาณ 7 ไร่เศษ รวมเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาอื่นๆ จนถึงปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 12 ไร่ และมีพระกิตติพงษ์ กัลยาโณ รักษาการเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน


ลักษณะเด่นของวัดคือพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วยสีขาวเป็นพื้น ประดับด้วยกระจกแวววาววิจิตรงดงามแปลกตา บนปูนปั้นเป็นลายไทย โดยเฉพาะภาพพระพุทธองค์หลังพระประธานซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่งดงามมาก เหนืออุโบสถที่ประดับด้วยสัตว์ในเทพนิยาย เป็นรูปกึ่งช้างกึ่งวิหคเชิดงวงชูงา ดูงดงามแปลกตาน่าสนใจมาก ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถก็เป็นฝีมือภาพเขียนของอาจารย์เอง
ความหมายของอุโบสถ
สีขาวของโบสถ์แทนพระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า กระจกขาวหมายถึง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่เปล่งประกายไปทั่วโลกมนุษย์และจักรวาล
สะพาน หมายถึง การเดินข้ามวัฏสงสารมุ่งสู่พุทธภูมิ ก่อนขึ้นสะพานครึ่งวงกลมเล็กหมายถึง โลกมนุษย์ วงใหญ่ที่มีเขี้ยวเป็นปากของพญามาร หรือพระราหู หมายถึง กิเลสในใจแทนขุมนรกคือทุกข์ ผู้ใดจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระพุทธภูมิต้องตั้งจิตปลดปล่อยกิเลสตัณหาของตนเองทิ้งลงไปในปากพญามาร เพื่อเป็นการชำระจิตเราให้ผ่องใสถึงจะเดินผ่านขึ้นไป บนสันของสะพานจะประกอบไปด้วยอสูรอมกัน 16 ตัว ข้างละ 8 ตัว อุปกิเลส 16 จากนั้นก็จะถึงกึ่งกลางสะพาน หมายถึง เขาพระสุเมระ เป็นที่อยู่ของเทวดา ด้านล่างเป็นสระน้ำ หมายถึง สันดรมหาสมุทร มีสวรรค์ตั้งอยู่ 6 ชั้นด้วยกัน ผ่านสวรรค์ 6 เดินลงไปสู่แผ่นดินของพรหม 16 ชั้น แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 16 ดอก รอบอุโบสถ ดอกที่ใหญ่สุด 4 ดอก ตรงทางขึ้นด้านข้างโบสถ์ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ ประกอบด้วยพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เป็นสงฆ์สาวกที่เราควรกราบไหว้บูชา
ก่อนขึ้นบันได ครึ่งวงกลม หมายถึง โลกุตตรปัญญา บันไดทางขึ้น 3 ขั้น แทนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านแล้วจึงขึ้นไปสู่แผ่นดินของอรูปพรหม 4 แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 4 ดอก และ บานประตู 4 บาน บานสุดท้ายเป็นกระจกสามเหลี่ยมแทนความว่าง (ความหลุดพ้น) แล้วจึงจะก้าวข้ามธรณีประตูเข้าสู่พุทธภูมิภายในประกอบด้วยภาพเขียนโทนสีทองทั้งหมด ผนัง 4 ด้าน เพดาน และพื้นล้วนเป็นภาพเขียนที่แสดงถึงการหลุดพ้นจากกิเลสมาร มุ่งเข้าสู่โลกุตรธรรม
ส่วนบนของหลังคาโบสถ์ ได้นำหลักธรรมอันสำคัญยิ่งของการปฏิบัติจิต 3 ข้อ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นำไปสู่ความว่าง (ความหลุดพ้น)
ช่อฟ้าเอก หมายถึง ศีล ประกอบด้วยสัตว์ 4 ชนิดผสมกัน แทน ดิน น้ำ ลม ไฟ ช้าง หมายถึง ดิน, นาค หมายถึง น้ำ, ปีกหงส์ หมายถึง ลม และหน้าอก หมายถึง ไฟ ขึ้นไปปกปักรักษาพระศาสนา บนหลัง ช่อฟ้าเอกแทนด้วยพระธาตุ หมายถึง ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ข้อ และ 84,4000 พระธรรมขันธ์
ช่อฟ้าชั้นที่ 2 (บน) หมายถึง สมาธิ แทนด้วยสัตว์ 2 ชิด คือ พญานาคกับหงส์ เขี้ยวพญานาค หมายถึง ความชั่วในตัวมนุษย์ หงส์ หมายถึง ความดีงาม ศีลเป็นตัวฆ่าความชั่ว (กิเลส) เมื่อใจเราชนะกิเลสได้ก็เกิดสมาธิ มีสติกำหนดรู้เกิดปัญญา
ช่อฟ้าชั้นที่ 3 (สูงสุด) หมายถึง ปัญญา แทนด้วยหงส์ปากครุฑ หมอบราบนิ่งสงบไม่ปรารถนาใดๆ มุ่งสู่การดับสิ้นซึ่งอาสวะกิเลสภายใน
ด้านหลังหางช่อฟ้าชั้นที่ 3 มีลวดลาย 7 ชิ้น หมายถึงโพชฌงค์ 7 ลาย 8 ชิ้นรองรับฉัตร หมายถึง มรรค 8 ฉัตรหมายถึงพระนิพพานลวดลายบนเชิงชายด้านข้างของหลังคาชั้นบนสุดแทนด้วยสังโยชน์ 10 เสา 4 มุม ด้านข้างโบสถ์ คือ ตุง (ธง) กระด้าง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าตามคติล้านน


- วัด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 6.30 – 18.00 น.
- ห้องแสดงภาพ : เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ – ศุกร์ 8.00 – 17.30 น. ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 8.00 – 18.00 น.